มิวเซียมสยาม
“พ่อคะ หนูเป็นคนไทยรึเปล่า ครูบอกว่าหนูหน้าไม่เหมือนคนไทยเลย”
“นี่ขนมโปรตุเกสใช่ไหม” – “ไม่ใช่ค่ะ นี่คือขนมไทย ชื่อฝอยทอง”
“ไม่ได้นะคะ ต้องเซ็นเซอร์ค่ะ การแต่งตัวโป๊เปลือยอย่างนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยของเรา”
คนที่สนใจ “ค้น” และ “หา” คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับ “คนไทย” และ “ความเป็นคนไทย” ตรงไปที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม” กันได้
“เรียน-รู้-เล่น” เป็นคำจำกัดความสามคำที่ขอมอบให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในย่านท่าเตียนแห่งนี้
มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด “Discovery Museum : พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้” ที่เน้นให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบผ่านสื่อสมัยใหม่หลากหลายประเภท ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นสามโซน คือ “Discovery Zone” พื้นที่นิทรรศการที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการกับผู้ชม “Collection Zone” พื้นที่จัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์โดยจัดวางในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อ และโซนสุดท้าย “Knowledge Zone” โซนที่ให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเสียง สื่อภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน
สามโซนนี้จัดแสดงร่วมกันอยู่ในห้องนิทรรศการถาวรทั้ง ๑๖ ห้องในนาม “นิทรรศการเรียงความประเทศไทย” เพื่อบอกเล่าความเป็นมาว่า คนไทยคือใคร ไทยแท้คืออะไร-มีอยู่จริงหรือไม่ โดยเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ตามต่อด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเป็นดินแดนมากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสยามประเทศ การปรับเปลี่ยนโฉมเมือง การเลือกรับและปรับใช้วัฒนธรรมตะวันตก กระทั่งกลายมาเป็นเมืองไทยในวันนี้
เรียน รู้ เล่น กันจนเปรมปรีดิ์แล้ว มิวเซียมสยามยังมีห้องนิทรรศการแถมให้ชมอีกหนึ่งห้องชื่อว่า “ตึกเก่าเล่าเรื่อง” ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงมาจากอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ และความรู้เกี่ยวกับที่ดินผืนนี้ว่ามีร่องรอยของวังเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ เหมือนจะบอกเป็นนัยถึงผู้เข้าชมว่า เราสามารถเรียนรู้รากเหง้าของเราได้จากทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงสิ่งก่อสร้างและผืนดินที่เราใช้ชีวิตอยู่
หากอยากรู้ว่าจะ “ได้” อะไรกลับมาแค่ไหน คุณต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์ที่ในท้ายที่สุดจะให้ความกระจ่างชัดว่า “ไทยคือเรา”.