วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดที่พระเจ้าอยู่หัวทรงจำพรรษา
"วัดสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์"
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นในปี 2367-2375 เรียกว่าวัดใหม่ อยู่ใกล้วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งต่อมาในสมัย ร. 6 ยุบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศ เมื่อวังหน้าองค์นี้สวรรคต ร. 3 มิได้ทรงตั้งวังหน้าองค์ใหม่ แต่โปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จเจ้าฟ้าพระหรือเจ้าฟ้ามงกุฎ พระอนุชาซึ่งทรงผนวชอยู่ มาจำพรรษาที่วัดนี้ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่าวัดบวรนิเวศ มีนัยบอกให้รู้ว่าสมเด็จพระอนุชาจะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อไป เพราะคำว่า “บวรนิเวศ” เทียบได้กับ “บวรสถาน” เมื่อเจ้าฟ้าพระครองวัดนี้ทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นก่อนลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วย
วัดนี้ได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับจำพรรษาขณะทรงผนวชของเจ้าฟ้าหลายพระองค์ จนถือเป็นราชประเพณีต่อมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าในบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จะเสด็จมาประทับจำพรรษาที่วัดนี้
วัดบวรนิเวศยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สิ่งน่าสนใจ
โบสถ์ เป็นอาคารตรีมุขขนาดใหญ่ มีเสาพาไลล้อมรอบ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูกแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบอันเป็นลักษณะของโบสถ์พระราชนิยมในสมัย ร. 3 ตรงกลางเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์พานรองสองชั้นซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ร. 4 เป็นเครื่องหมายว่าทรงครองวัดนี้เมื่อครั้งทรงผนวช ด้านหน้าโบสถ์มีใบเสมาแบบมีสังวาลย์ เป็นลักษณะเสมาของธรรมยุติกนิกาย ส่วนใบเสมาที่ติดอยู่ตามมุมนั้นเป็นลักษณะฝีมือช่างวังหน้า
พระประธาน กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อครั้งสร้างวัด มีสององค์คือ พระพุทธชินสีห์ (ประดิษฐานอยู่ข้างหน้า) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. พิษณุโลก อีกองค์คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธสุวรรณเขต อัญเชิญจากวัดสระตะพาน จ. เพชรบุรี
ใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จิตรกรรมฝาผนัง บนผนังโบสถ์ตอนบนเป็นฝีมือขรัวอินโข่ง วาดเป็นภาพฝรั่งแสดงปริศนาธรรม ส่วนผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพพิธีสงฆ์และเทศกาลงานบุญ ไม่ทราบชัดว่าเป็นฝีมือผู้ใด
เจดีย์ เป็นทรงลังกาแบบพระราชนิยมในสมัย ร. 4 อยู่บนฐานทักษิณสองชั้นด้านหลังโบสถ์ องค์เจดีย์มีคูหาด้านใน ประดิษฐานพระไพรีพินาศเจดีย์ เป็นเจดีย์กะไหล่ทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
บนฐานทักษิณของเจดีย์มีเก๋งตั้งอยู่ เป็นที่ประดิษฐานพระไพรีพินาศ พระพุทธรูปปางประทานพรสมัยศรีวิชัยซึ่งมีผู้นำมาถวาย ร. 4 เมื่อทรงผนวชอยู่
ในซุ้มปรางค์บนเจดีย์ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อ ร. 4 ม.จ. จงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงให้กรมศิลปากรหล่อจำลองจากพระบรมรูปองค์เดิมในตำหนักเพชร
วิหารพระศาสดา สร้างในสมัย ร. 4 หน้าบันเป็นลายเครือเถาดอกพุดตาน ล้อมรอบพระราชลัญจกร ร. 4 ในวิหารแบ่งเป็นสองตอน ตอนหน้าด้านตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระศาสดา พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยยุคเดียวกับพระชินสีห์ ร. 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. พิษณุโลก ผนังวิหารตอนหน้านี้เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร 13 อันเป็นวัตรปฏิบัติ 13 ข้อของภิกษุสามเณรที่ออกธุดงค์ ตอนหลังด้านตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระไสยา พระพุทธรูปศิลาปางไสยาสน์ศิลปะสุโขทัย ร. 4 ทรงอัญเชิญมาจากวัดพระพายหลวง จ. สุโขทัย เมื่อครั้งทรงผนวช
เซี่ยวกาง บนบานประตูของศาลาทางเข้าวัดหน้าโบสถ์มีรูปเซี่ยวกางหรือทวารบาลในรูปแบบต่างๆ ไม่ซ้ำกัน