พาหลง...บางรัก ย่านเก่ากรุงเทพฯ

พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทย เคยกล่าวถึงที่มาของชื่อ “บางรัก” ว่า เดิมมีรักต้นใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ในคลอง (บริเวณตรอกซุงในปัจจุบัน) เมื่อเอ่ยชื่อย่านนี้ครั้งใดก็จะเรียก “ไม้รัก” แต่พอคนรุ่นหลังๆ ไม่รู้จักก็เรียกเพี้ยนเป็น “บางรัก” เช่นทุกวันนี้
     บางรักนับเป็นย่านเศรษฐกิจและย่านการค้ากับนานาชาติมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญ  ปัจจุบันแม้จะมีตึกสูงผุดขึ้นจำนวนมาก แต่เรายังพอมองเห็นร่องรอยความเจริญในอดีตได้จากอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอกซอย
     บางรักจึงเป็นย่านเก่าที่อดีตผสมกลมกลืนกับปัจจุบัน...พอรู้สึกตัวอีกทีผมก็เดินหลงมาที่บางรักแล้ว
บ้านที่รวบรวมความหลัง
     มุมหนึ่งของย่านบางรัก ในซอยเจริญกรุง ๔๓ (สะพานยาว) มีบ้านที่บรรยากาศร่มรื่นหลังหนึ่ง คือพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บันทึกเรื่องราววิถีชีวิตชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๖-๘ เอาไว้  ดร. วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของบ้าน อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมื่อราว ๘๐-๙๐ ปีก่อน จึงโอนกรรมสิทธิ์บ้านและทรัพย์สินของมารดาให้กรุงเทพมหานครดูแลและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์
     เมื่อก้าวผ่านรั้วบ้านเข้าไป เราพบเรือนปั้นหยาที่สวยงาม เป็นเรือนไม้สักสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป  มีการประดับตกแต่งด้วยลายฉลุน้อยลงกว่าเรือนปั้นหยาในยุคก่อนหน้าและเน้นความเรียบง่าย  อาคารลักษณะนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๗ เรียกว่า “เรือนปั้นหยารุ่นปลาย”
     ผมนั่งในศาลารับแขกข้างบ้าน ฟัง ดร. วราพรเล่าประวัติย่านบางรักและชีวิตครอบครัวให้ฟัง ก่อนเดินชมภายใน  บ้านชั้นล่างเป็นส่วนห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องหนังสือ และห้องน้ำ  ที่น่าสนใจคือส้วมแบบโบราณที่น่าตื่นตาจนต้องถ่ายภาพเก็บไว้  ห้องแต่ละห้อง เช่นห้องอาหาร จะมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องเบญจรงค์แบบไทย เครื่องลายครามลวดลายจีน เก็บรักษาไว้  ชมชั้นแรกจนเพลินแล้วพวกเราก้าวขึ้นบันไดสู่ชั้นบน
     ชั้นบนเป็นส่วนห้องนอนและห้องแต่งตัว  สิ่งที่ห้ามพลาดชมคือ โต๊ะเครื่องแป้งสไตล์ยุโรปซึ่งมีกระจกสามด้าน และเตียงไม้โบราณแบบตะวันตกที่มีเสามุ้งซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก  ข้าวของเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ในสมัยนั้นชนชั้นกลางชาวบางกอกนิยมแฟชั่นตะวันตก
     ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกยังมีอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับย่านบางรัก รวมถึงอาคารแห่งความหลังของครอบครัวสุรวดี...มาชมแล้วนอกจากได้ความรู้ก็ยังได้ความประทับใจกลับไปอีกด้วย
หลงใหล...สถาปัตยกรรมคลาสสิก
     ย่านบางรักเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญอีกแห่งของกรุงเทพฯ จึงมีอาคารสำนักงานของราชการหลายแห่ง  อาคารเหล่านี้ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งงามคลาสสิก น่าหลงใหล ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยให้เดินชม
     ออกจากพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เดินไปทางซ้ายเพื่อออกถนนเจริญกรุง จากปากซอยจะเห็น  อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก  ที่ยังคงสวยงามดึงดูดสายตาอยู่เยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย  ไปรษณีย์กลางฯ เปิดทำการมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ นับว่าเป็นศูนย์กลางการโทรเลขและไปรษณีย์ของไทยขณะนั้น
     เดินเข้าไปในซอยเจริญกรุง ๓๖ ผมพบ ตึกศุลกสถาน หรืออาคารภาษีร้อยชักสาม (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสถานีดับเพลิงบางรัก) ทำให้ผมจินตนาการย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงที่เรือสำเภาและชาวต่างชาติมาค้าขายกันขวักไขว่ที่ประตูพระนครทางด้านใต้นี้
     อีกแห่งที่แม้จะยังอยู่ในระหว่างปรับปรุง แต่ผมก็อยากแนะนำให้แวะไป นั่นคือโบสถ์อัสสัมชัญ มหาวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในซอยเจริญกรุง ๔๐  โบสถ์สถาปัตยกรรมเรอเนซองแห่งนี้อายุเก่าแก่กว่า ๒๐๖ ปี  ตัวอาคารสวยงามคลาสสิกมาก เพียงแค่เดินชมด้านนอกก็สุขใจแล้ว
ใครได้มาเดินเที่ยวบางรัก รับรองว่าต้องหลงรัก...บางรักสุดหัวใจ.
 
Please rate this content
Total votes: 10