พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บันทึกเรื่องราววิถีชีวิตชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๖-๘ เอาไว้ ดร. วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของบ้าน อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมื่อราว ๘๐-๙๐ ปีก่อน จึงโอนกรรมสิทธิ์บ้านและทรัพย์สินของมารดาให้กรุงเทพมหานครดูแลและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์
เมื่อก้าวผ่านรั้วบ้านเข้าไป เราพบเรือนปั้นหยาที่สวยงาม เป็นเรือนไม้สักสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป มีการประดับตกแต่งด้วยลายฉลุน้อยลงกว่าเรือนปั้นหยาในยุคก่อนหน้าและเน้นความเรียบง่าย อาคารลักษณะนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๗ เรียกว่า “เรือนปั้นหยารุ่นปลาย”
ผมนั่งในศาลารับแขกข้างบ้าน ฟัง ดร. วราพรเล่าประวัติย่านบางรักและชีวิตครอบครัวให้ฟัง ก่อนเดินชมภายใน บ้านชั้นล่างเป็นส่วนห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องหนังสือ และห้องน้ำ ที่น่าสนใจคือส้วมแบบโบราณที่น่าตื่นตาจนต้องถ่ายภาพเก็บไว้ ห้องแต่ละห้อง เช่นห้องอาหาร จะมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องเบญจรงค์แบบไทย เครื่องลายครามลวดลายจีน เก็บรักษาไว้ ชมชั้นแรกจนเพลินแล้วพวกเราก้าวขึ้นบันไดสู่ชั้นบน
ชั้นบนเป็นส่วนห้องนอนและห้องแต่งตัว สิ่งที่ห้ามพลาดชมคือ โต๊ะเครื่องแป้งสไตล์ยุโรปซึ่งมีกระจกสามด้าน และเตียงไม้โบราณแบบตะวันตกที่มีเสามุ้งซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก ข้าวของเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ในสมัยนั้นชนชั้นกลางชาวบางกอกนิยมแฟชั่นตะวันตก
ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกยังมีอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับย่านบางรัก รวมถึงอาคารแห่งความหลังของครอบครัวสุรวดี...มาชมแล้วนอกจากได้ความรู้ก็ยังได้ความประทับใจกลับไปอีกด้วย