พระราชวังบางปะอิน
ใครๆมักคิดว่าพระราชวังบางปะอินเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ที่จริงแล้วบางปะอินเป็นพระราชวังเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทีเดียว
บางปะอินนั้นเดิมชื่อเกาะบ้านเลน เมื่อพระเอกาทศรถยังเป็นวังหน้าได้เสด็จประพาสมาถึงเกาะแห่งนี้และได้หญิงชาวบ้านเป็นบาทบริจาริกา ต่อมาหญิงผู้นั้นตั้งครรภ์และได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งซึ่งก็คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในเวลาต่อมา เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ได้ทรงสร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ขึ้นริมน้ำในพื้นที่เกาะแห่งนี้ พระราชวังแห่งนี้รกร้างไปเมื่อครั้งกรุงแตกจนกระทั่งรัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งองค์อื่นๆที่เราเห็นอยู่ในบางปะอินทุกวันนี้จึงล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นใหม่ บางปะอินจึงถือเป็นพระราชวังที่คาบเกี่ยวสองรัชสมัย มีความสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อก้าวเข้ามาในพระราชวังแห่งนี้ เราสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นและความยิ่งใหญ่อลังการ จุดแรกเราผ่านพระราชฐานชั้นนอก ได้แก่ หอเหมมณเฑียรเทวราช สภาคารราชประยูร พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ และเดินมาจนถึงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระที่นั่งเหล่านี้ใช้เป็นที่ประทับเมื่อพระมหากษัตริย์ออกมหาสมาคมและร่วมพระราชพิธีต่างๆ จึงล้วนมีความสวยงามเป็นหน้าเป็นตาให้แก่บ้านเมือง
จากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน เราเดินข้ามสะพานซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อเขตภายในและภายนอก สะพานนี้ถูกออกแบบมาอย่างดีให้มีทางเดินของฝ่ายในและฝ่ายหน้าโดยทางเดินของฝ่ายในจะมองเห็นฝ่ายหน้าได้โดยที่ฝ่ายหน้าไม่เห็น เราชื่นชมความช่างคิดของคนโบราณจนมาสุดปลายสะพานที่ประตูเทวราชครรไล ประตูสู่เขตพระราชฐานชั้นใน
เขตพระราชฐานชั้นในนี้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งบาทบริจาริกา จึงมีทั้งที่ประทับ พลับพลา ศาลา และอุทยานขนาดใหญ่สำหรับให้ทรงพระเกษมสำราญ บริเวณนี้ประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ อันได้แก่ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร หอวิฑูรทัศนา พระที่นั่งเวหาศจำรูญหรือที่เรียกกันว่าพระตำหนักเก๋งจีน แล้วไปสิ้นสุดที่พระตำหนักฝ่ายในและอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และอนุสาวร์ราชานุสรณ์
พระราชวังบางปะอินนับว่าเป็นพระราชวังที่มีสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งไทย จีน ยุโรป ภายในพระราชวังมีต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น มีหมู่มวลดอกไม้ประดับพระที่นั่งให้สวยงาม ในพื้นที่กว่า ๑๑๖ ไร่จึงเป็นพื้นที่แห่งความงดงาม ทั้งงดงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและงดงามด้วยความทรงจำถึงความรุ่งเรืองแห่งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์