วัดพระธาตุลำปางหลวง
มาลำปางต้องมาสักการะพระธาตุลำปางหลวง ทั้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลูด้วย จากนั้นเที่ยวชมสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างชั้นครูที่รักษาขนบการสร้างวัดล้านนาแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์
@ บันไดนาคและซุ้มประตูโขง ราวบันไดเป็นพญานาคห้าเศียรเลื้อยมาจากบนเขา ที่บันไดขั้นบนสุดเป็นซุ้มประตูโขงมียอดแหลมซ้อนเป็นชั้นๆ ประดับด้วยลายปูนปั้นที่สวยงามมาก ส่วนหน้าบันเป็นตราธรรมจักรขนาดใหญ่
@ วิหารหลวง เป็นวิหารโถงไม้สัก ล้อมรอบด้วยลานทรายตามคติการสร้างวัดล้านนาโบราณ หลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นเกือบถึงพื้น ภายในมีพระเจ้าล้านทอง พระประธานปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ แบบเชียงแสนผสมสุโขทัย และภาพเขียนบนไม้คอสอง เป็นภาพในทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักรหรือรามเกียรติ์ฉบับล้านนา
@ วิหารพระพุทธ หรือวิหารลายคำ วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปิดทึบทั้งสี่ด้าน มีสิ่งน่าสนใจคือ
- ซุ้มประตูโขง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่บานประตูมีรูปทวารบาลสีทองบนพื้นสีแดงชาดซึ่งถูกงานซ่อมรุ่นหลังปิดทับนานนับร้อยปี กระทั่งมีการบูรณะในปี 2545 จึงปรากฏความงามอีกครั้ง
- พระประธาน ปางมารวิชัยแบบสุโขทัย ลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนฐานชุกชีที่ส่วนหน้าของวิหารนี้
- ลายคำ เช่น ลวดลายหม้อดอกบนผนังประตูทางเข้า ภาพเหล่าทวยเทพที่ผนังด้านหลังพระประธาน ทุกภาพเขียนได้งามวิจิตร
- เงาพระธาตุ เมื่อเดินเข้าไปในวิหารพระพุทธจะพบเงาพระธาตุอยู่บนโต๊ะทางขวามือ อาจไม่ชัดเจนเท่าในมณฑปพระพุทธบาท แต่ผู้หญิงเข้าชมได้
@ พระธาตุลำปางหลวง อยู่ใจกลางวัด เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนาบุด้วยแผ่นทองจังโกที่แต่ละแผ่นสลักลวดลายไม่ซํ้ากัน อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนยอดมีฉัตรทำด้วยทองคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
@ วิหารนํ้าแต้ม วิหารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดห้าห้อง หลังคาซ้อนชั้นลาดต่ำอ่อนช้อยสวยงาม ภายในมีสิ่งน่าชมคือ ลายคำ และภาพจิตรกรรมสีฝุ่นแบบโบราณที่แม้ส่วนใหญ่จะลบเลือนแต่เป็นที่กล่าวขานถึงในหมู่นักชมศิลปะ ชื่อ “น้ำแต้ม” ก็มาจากภาพเขียนนี้นี่เอง
@ มณฑปพระพุทธบาท สร้างปี 1992 เป็นมณฑปบนฐานสูง ซึ่งจะได้เห็นเงาพระธาตุลำปางหลวงกลับหัวบนผืนผ้าสีขาวด้านซ้ายมือ ดูน่าอัศจรรย์ (ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชม)
เงาพระธาตุในมณฑปพระพุทธบาทเห็นได้ชัดช่วงสายถึงเย็นในวันที่แสงแดดจ้า โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่แสงแดดส่องกระทบพระธาตุพอดี เวลาชมต้องปิดประตูหน้าต่างให้มืด มีเพียงลำแสงผ่านเข้ามาทางรูเล็กๆ ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นแสงสะท้อนจากองค์พระธาตุแล้วเกิดการหักเหแยกเป็นสีสันตามธรรมชาติของวัตถุ
@ พระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง สร้างจากหินสีเขียวมรกต ศิลปะเชียงแสน ปางสมาธิ (ขัดสมาธิราบ) หน้าตักกว้าง 6.5 นิ้ว สูง 8.5 นิ้ว ประดิษฐานในวิหารพระแก้ว
@ พิพิธภัณฑ์ มีสามอาคาร คือ ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง จัดแสดงเครื่องเคลือบดินเผา เครื่องเขิน ที่วิหารพระแก้ว จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณ คัมภีร์ และสลุงหลวง ที่ศาลาบุญตา จัดแสดงไม้แกะสลักงานทางพุทธศาสนา
จักรวาลในพระธาตุลำปางหลวง
คนไทยพุทธมีความเชื่อเรื่องจักรวาลว่า เขาพระสุเมรุที่ประดิษฐานพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งบรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ใจกลางจักรวาล ล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์และทวีปทั้งสี่ที่ตั้งอยู่กลางมหานทีสีทันดร โดยมนุษย์อาศัยอยู่ที่ชมพูทวีปทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ
วัดพระธาตุลำปางหลวงนำ “คติจำลองจักรวาล” มาออกแบบแผนผังของวัด องค์พระธาตุเปรียบเสมือนพระเจดีย์จุฬามณี วิหารหลวงหมายถึงชมพูทวีปที่มนุษย์อาศัยอยู่และที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยมีพระเจ้าล้านทองเป็นตัวแทน ขณะลานทรายล้อมรอบวิหารหมายถึงมหานทีสีทันดร
ตำนานนางสุชาดาถวายแตงโม ที่มาของชื่อ “พระแก้วดอนเต้า”
ตำนานกล่าวว่า เทวดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ชื่อนางสุชาดา เพื่อรับใช้มหาเถรเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมหาเถรหาไม้แก่นจันทน์เพื่อนำมาสลักพระไม่ได้ พญานาคจึงเนรมิตแก้วมรกตไว้ในแตงโมและนำไปไว้ในสวนดอกไม้ของนางสุชาดา นางนำแตงโมนี้ไปถวายและผ่าออกก็พบแก้วมรกต พระอินทร์ซึ่งจำแลงเป็นมนุษย์ก็อาสาแกะสลักพระพุทธรูปจนเสร็จ
ต่อมาเจ้าเมืองสั่งประหารชีวิตนางสุชาดาด้วยข้อครหาว่ามีความสัมพันธ์กับมหาเถร ก่อนถูกประหารนางอธิษฐานว่า หากนางบริสุทธิ์ ขออย่าให้เลือดตกสู่พื้น เมื่อเพชฌฆาตลงดาบ เลือดของนางก็ลอยขึ้นสู่อากาศ เจ้าเมืองจึงเกิดธรรมสังเวชอกแตกตาย
ตำนานนี้ทำให้คนลำปางรุ่นเก่าเชื่อว่า นางสุชาดาโกรธแค้นตระกูลเจ้าเมืองมากและได้สาปแช่งให้บ้านเมืองไม่เจริญไว้ด้วย
ชื่อพระแก้วดอนเต้ามาจากตำนานนี้ “แก้ว” หมายถึงหินสีเขียวมรกต ส่วน “เต้า” คือบะเต้า หรือแตงโม