บ้านมณีพฤกษ์
หมู่บ้านชาวม้งและลัวะ ที่เป็นพื้นที่สู้รบในสมัยที่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองอย่างรุนแรง ต่อมาโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (หรือ พมพ.) ได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน ส่งเสริมอาชีพให้ชาวไทยภูเขา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยล่าสุดมีโครงการให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อช่วยลดการทำไร่เลื่อนลอย กาแฟมณีพฤกษ์มีคุณภาพอยู่ในระดับแถวหน้าของกาแฟน่าน
ที่เที่ยวในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นที่เที่ยวทางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์อยู่ เช่น ถ้ำน้ำดั้น ถ้ำผาผึ้ง และที่เที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสู้รบ เช่น ถ้ำหอหญิง ถ้ำหอชาย ถ้ำจำปี จุดท่องเที่ยวหลายแห่งต้องเดินเข้าไปและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ในหมู่บ้านยังมีต้นชมภูพูคาจำนวนมากที่ในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกสะพรั่งสวยงามไม้แพ้ที่ อช. ดอยภูคา อีกช่วงที่น่าแวะมาเที่ยวคือช่วงงานประเพณีปีใหม่ม้ง ในเดือน???? ที่หนุ่มสาวชาวบ้านจะใส่ชุดพื้นเมืองมาเล่นโยนลูกช่วงกัน เป็นบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง
สิ่งน่าสนใจ
@ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อยู่ในพื้นที่ของ พมพ. ภายในศูนย์ฯ ด้านขวามีป้ายนิทรรศการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ด้านซ้ายเป็นร้านกาแฟสดซึ่งชงกาแฟจากเมล็ดกาแฟคุณภาพดีของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ บริเวณด้านหน้าศูนย์ฯ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนดอกไม้หลากสี อย่างดอกซัลเวีย ลิ้นมังกร พิทูเนีย โดยมีไม้ยืนต้นสำคัญคือสนสามใบ ทั้งยังมีสวนสาธิตการเลี้ยงสัตว์และบ้านพักสองหลังด้วย
@ เส้นทางศูนย์บริการฯ-สวนสาธิต-ถ้ำผาผึ้ง
- สวนสาธิต อยู่ริมถนนด้านหน้าศูนย์บริการฯ เป็นแปลงทดลองปลูกพืชเมืองหนาว เช่น กะหล่ำเขียว ท้อ ไหน สาลี่ และมีต้นนางพญาเสือโคร่งยืนต้นอยู่ด้วย ช่วงฤดูหนาวราวเดือน ม.ค. ต้นสาลี่จะออกดอกสีขาว ส่วนนางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพู ดูสวยงามมาก
- ถ้ำน้ำดั้น จากสวนสาธิตเดินต่อไปอีกราว 450 ม. จะถึงที่จอดรถ จากนั้นเดินลงไปตามลำธารอีก 100 ม. ก็จะถึงถ้ำน้ำดั้นซึ่งอยู่กลางหน้าผา ทางเข้าถ้ำเป็นทางแคบ ต้องเดินลึกลงไป 50-60 ม. ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม และจะได้ยินเสียงน้ำลอดอยู่ด้านล่าง เมื่อเดินไปสุดทางจึงพบลำธารที่หายเข้าไปในภูเขา เรียกว่าธารน้ำดั้น
- ต้นชมพูภูคา จากศูนย์บริการฯ ไปทางหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 2 ประมาณ 3.5 กม. พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปจนถึงทางแยก จากนั้นเลี้ยวซ้ายก็จะพบกลุ่มต้นชมพูภูคา ซึ่งออกดอกในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.
- ถ้ำผาผึ้ง จากศูนย์บริการฯ ไปทางหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1 ประมาณ 1.1 กม. จะเห็นป้ายอยู่ทางซ้ายมือ ต้องเดินลงไปอีกราว 100 ม. ระหว่างทางเป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยเฟินต้นและเต่าร้างขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและแอ่งน้ำเล็กๆ ดูสวยงามพอสมควร ความจริงตัวถ้ำลึกและใหญ่มาก แต่ยังไม่มีการจัดทำเส้นทางที่สมบูรณ์ ดังนั้นหากต้องการเดินเข้าไปลึก ควรติดต่อให้ชาวบ้านนำทางและเดินอย่างระมัดระวัง เพราะทางค่อนข้างลื่น
@ เส้นทางดอยผาผึ้ง-หมู่บ้านมณีพฤกษ์-โรงคั่วกาแฟ
- ดอยผาผึ้ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดของหมู่บ้าน ต้องเดินจากถนนขึ้นไปราว 1.5 กม. (ควรให้ชาวบ้านนำทาง เตรียมไฟฉายไปด้วย และเดินอย่างระมัดระวัง) หน้าผาหินซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์บนเทือกเขาภูแวนั้นมีพื้นที่ราว 4 ตร.ม. สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 ม. จากจุดนี้จะเห็นเทือกภูแวทอดยาวไปไกล และทิวเขาน้อยใหญ่ใน อ. เฉลิมพระเกียรติ อ. บ่อเกลือ
- หมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1-2-3 หมู่ 1 เป็นหมู่บ้านของชาวม้ง อาจมาเดินชมวิถีชีวิตได้ในช่วงเย็น ส่วนหมู่ 2 และ 3 เป็นหมู่บ้านชาวลัวะ ช่วงฤดูหนาวอาจได้เห็นหมอกล่องลอยอยู่ในหุบเขาบริเวณหมู่ 2
- โรงคั่วกาแฟ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 เป็นโรงคั่วกาแฟของ เคเล็บ จอแดน ลูกชายของมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ เคเล็บเคยทำงานในโรงคั่วกาแฟชั้นนำของสหรัฐอเมริกา จึงนำความรู้มาพัฒนากาแฟมณีพฤกษ์ให้มีคุณภาพระดับสูง โดยรับเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านมาคัดเลือกและคั่วส่งขายในชื่อ “Gem Forest” มีกาแฟหลายสายพันธุ์ เช่นทิปปิกา คาทูรา คาร์ติมอร์ เกชา กาแฟมณีพฤกษ์มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและรสอมเปรี้ยวนิดๆ ลองชิมได้ที่ร้านกาแฟมณีพฤกษ์ในตัว อ. ปัว
@ เส้นทางปางวัว-ภูหัวล้าน-ถ้ำหอหญิง-ถ้ำหอชาย-ถ้ำจำปี เดินจากหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1 (โดยมีชาวบ้านนำทาง) ไปประมาณ 5 กม. จะถึงจุดกางเต็นท์ปางวัว ซึ่งเป็นจุดพักแรมที่สามารถชมทิวทัศน์ทะเลหมอกได้ในตอนเช้า จากปางวัวสามารถเดินไปเที่ยวชมฐานปฏิบัติการและถ้ำต่างๆ ที่เคยเป็นที่พักของทหาร พคท. ได้แก่ ภูหัวล้าน อยู่ห่างจากปางวัวไป 200 ม. เคยเป็นฐานปฏิบัติการของทหารและแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ยังปรากฏร่องรอยหลุมเพลาะและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เมื่อเดินต่อไปจะผ่านถ้ำหอหญิง (ถ้ำภูตีกลอง 1) ซึ่งเคยเป็นที่พักของทหาร พคท. หญิง ทางเข้าถ้ำเล็กแคบ แต่พอเดินลงไปจะกว้างขึ้นและมีห้องต่างๆ หลายห้อง จากนั้นเดินลัดเลาะเชิงเขาไปอีกราว 10 นาที จะถึงถ้ำหอชาย (ถ้ำภูตีกลอง 2) ที่พักของทหาร พคท. ชาย ปากถ้ำเป็นเพิงขนาดใหญ่ แต่ภายในไม่ลึกนัก เดินต่อไปอีก 2 กม. จะถึงถ้ำจำปี ที่อยู่เดิมของทหาร พคท. เช่นกัน ภายในมีโถงถ้ำขนาดใหญ่หลายห้อง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม บางห้องจุคนได้หลายร้อยคน
เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นสนามสู้รบ มีการวางกับระเบิดไว้จำนวนมาก แม้จะมีการเก็บออกไปแล้ว แต่ก็อาจมีหลงเหลืออยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้