วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรีมาแต่โบราณ ชาวบ้านเรียกว่าวัดพระธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระปรางค์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยใต้ฐานปรางค์เคยพบกรุพระผงสุพรรณ หนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคีอันโด่งดัง
ประวัติ เชื่อกันว่า เดิมวัดตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี แต่ต่อมาได้ย้ายข้ามมายังฝั่งตะวันออก จนเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สุพรรณบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านถูกเผาทำลายด้วย วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างนับแต่นั้นมา
ล่วงถึงปี พ.ศ. 2456 ชาวจีนคนหนึ่งซึ่งปลูกผักอยู่ในบริเวณใกล้วัด ได้ปีนเข้าไปในกรุองค์ปรางค์พบโบราณวัตถุมากมาย ชาวบ้านเมื่อรู้ข่าวก็พากันเข้าไปในกรุนี้บ้าง และนำพระเครื่องออกมาเป็นจำนวนมาก ในบรรดาสิ่งของมีค่าเหล่านี้ มีแผ่นลานทองคำจารึกอักษรขอมหลายแผ่นรวมอยู่ด้วย จารึกดังกล่าวบอกให้รู้ว่า วัดนี้มีมาแต่ครั้งอโยธยา ซึ่งเป็นช่วงก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา 26 ปี
สิ่งน่าสนใจ
@ ปรางค์ มีขนาดใหญ่เห็นเด่นชัด ก่อด้วยอิฐสอดินผสมยางไม้ และฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ที่ฐานมีการย่อมุมอย่างที่นิยมในสมัยอยุธยา
ส่วนกลางของปรางค์มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ แต่ละซุ้มเหลือร่องรอยว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปยืน แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นปางห้ามสมุทรหรือปางประทานอภัย ด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นคูหา มีบันไดขึ้นไปในคูหาได้ ภายในประดิษฐานพระปรางค์จำลอง ส่วนยอดของปรางค์ยังเหลือลายปูนปั้น เช่น รูปยักษ์ถือกระบอง ตัวมกร ยอดปรางค์ประดับด้วยนภศูล
@ วิหารยาว
- เปิดเวลา 08.30-17.00 น.
อยู่ด้านทิศตะวันออกของปรางค์ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อปิยทัสสะสีและพระพุทธรูปหินทรายสมัยอู่ทองถึง 279 องค์
@ โบสถ์เก่า อยู่ด้านหลังปรางค์ เป็นโบสถ์ไม้ บางส่วนเช่นหลังคาและฝาผนังชำรุดผุพัง แต่ยังคงสวยงามอยู่ ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ เสมารอบโบสถ์เป็นปูนปั้นทรงป้อมๆ เลียนแบบเสมาหินทรายรุ่นเก่า
พระเครื่องเบญจภาคี
ถือเป็นสุดยอดของพระเครื่องเมืองไทย ประกอบด้วยพระเครื่องจากที่ต่างๆ ห้าองค์ ได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง จ. กรุงเทพฯ พระผง จ. สุพรรณบุรี พระซุ้มกอ จ. กำแพงเพชร พระรอด จ.ลำพูน และพระนางพญา จ. พิษณุโลก พระเครื่องแต่ละองค์เลื่องชื่อในทางพุทธคุณ มีมูลค่าการเช่าหลักล้านบาท
ปริศนาจารึกในลานทองที่พบในพระปรางค์วัดพระธาตุ
อักษรขอมที่จารึกบนลานทองแผ่นที่ 3 ที่พบในองค์ปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระธาตุนั้น เมื่อแปลเป็นไทยแล้ว มีเนื้อความอันสละสลวยและแฝงด้วยปริศนาดังนี้
“ความสำเร็จจงมี พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธยา ทรงพระนามว่าจักรพรรดิ โปรดให้สร้างพระสถูปองค์นี้ขึ้น และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่พระสถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวล และเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดี และทรงบรรจุพระวรธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในสถูปนั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระสถูปจึงทรงบูชาด้วยเครื่องบูชามีทองเป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยบุพกรรมแห่งข้านั้น ขอให้ข้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเทอญ”