ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

นมัสการเจ้าพ่อหลักเมือง

     ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน มีศิลปะจีนที่สวยงามน่าชม  เจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสมุทรสาครเคารพนับถือมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวประมง  ราวเดือน มิ.ย. จะมีงานแห่เจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งมีผู้มาร่วมงานคับคั่ง  ใกล้ศาลเจ้าเป็นที่ตั้งของป้อมวิเชียรโชฎกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การรักษาเอกราชของไทย

สิ่งน่าสนใจ

     ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  เป็นอาคารเก๋งจีน ตกแต่งด้วยศิลปะจีนที่เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสิริมงคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก  ด้านหน้าศาลเป็นลายปูนปั้นนูนต่ำรูปโป๊ยเซียนหรือเทพทั้งแปดในลัทธิเต๋า เสาแต่ละต้นประดับด้วยปูนปั้นรูปมังกรพันรอบเสาอย่างสวยงาม ตามความเชื่อว่ามังกรเป็นสัตว์วิเศษที่ช่วยขจัดสิ่งอัปมงคล

     เจ้าพ่อหลักเมืองเป็นรูปแกะสลักจากไม้ต้นโพ ในท่าทรงยืน สูงราว 1 ศอก มีลวดลายคล้ายเทพารักษ์หรือพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในซุ้มแท่นบูชาซึ่งแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงามโดยช่างจีนโบราณ เป็นรูปสัตว์มงคลต่างๆ ทั้งมังกร หงส์ สิงโต ช้าง นกกระเรียน อยู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา และปิดทองคำบริสุทธิ์ให้ดูมลังเมลือง นับเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง

     ชาวสมุทรสาครเคารพนับถือเจ้าพ่อหลักเมืองมาก มักมาขอพรและปิดทองเจ้าพ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะชาวประมง ก่อนออกทะเลทุกครั้งต้องมาจุดประทัดถวาย ขอให้ท่านคุ้มครองให้พ้นจากภัยในทะเลลึก

     ป้อมวิเชียรโชฎก  ตั้งอยู่ห่างจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราว 200 ม.  เป็นป้อมก่อด้วยอิฐถือปูน อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรม  ตามช่องของกำแพงมีปืนใหญ่นับสิบกระบอกตั้งอยู่  ป้อมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเวลานั้นไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวนเรื่องเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่าญวนจะรุกรานไทย จึงให้สร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ตามหัวเมืองปากน้ำ ทั้งในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ รวมถึงป้อมวิเชียรโชฎกนี้ด้วย  ชื่อป้อมมาจากนามของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) แม่กองผู้คุมงานสร้างป้อม

     - มีงานนมัสการเจ้าพ่อหลักเมือง ประมาณเดือน มิ.ย.

ล้อมกรอบ

เหตุใดจึงเรียกแม่น้ำ “ท่าจีน”
แม่น้ำท่าจีนแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. อุทัยธานี และ จ. ชัยนาท มีชื่อเรียกหลายชื่อตามจังหวัดที่ผ่าน เช่น ผ่านชัยนาทชื่อ “แม่น้ำมะขามเฒ่า” ผ่านสุพรรณบุรีชื่อ “แม่น้ำสุพรรณบุรี” ผ่านนครปฐมเรียก “แม่น้ำนครชัยศรี” และช่วงที่ไหลผ่านสมุทรสาครก่อนลงทะเลอ่าวไทยเรียก “แม่น้ำท่าจีน” รวมระยะทางประมาณ 315 กม.
เหตุที่เรียกว่า “แม่น้ำท่าจีน” ก็เพราะบริเวณปากแม่น้ำทั้งฝั่งมหาชัยและฝั่งท่าฉลอมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนเก่าแก่ ในอดีตมีชาวจีนจำนวนมากแล่นเรือสำเภาเข้ามาติดต่อค้าขาย แล้วตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนใหญ่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนนี้

ล้อมกรอบ

นั่งรถไฟไปเที่ยวมหาชัย
การไปเที่ยวมหาชัยโดยนั่งรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยจะได้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในอีกแบบหนึ่ง ได้ตื่นตาตื่นใจกับทิวทัศน์ ได้พบเห็นชุมชนริมทางรถไฟ ได้สัมผัสกับชาวบ้านผู้ร่วมทาง
หากสนใจควรออกเดินทางตอนเช้าเพราะอากาศไม่ร้อน เมื่อรถออกจากสถานีวงเวียนใหญ่จะผ่านสถานีตลาดพลูที่มีอาคารรูปแบบคลาสสิก จากนั้นจะทะลุผ่านกลางชุมชนตลาดพลู เห็นห้องแถวไม้โบราณ บ้านหลังคาปั้นหยาที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 สะท้อนให้เห็นว่าในอดีตย่านนี้เคยเป็นตลาดค้าพลูที่เฟื่องฟู แล้วรถไฟจะข้ามคลองบางขุนเทียน เห็นวัดราชโอรสฯ วัดประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งตกแต่งด้วยศิลปะจีนอย่างสวยงาม อยู่ทางด้านขวา จากนั้นจะผ่านชุมชน โรงงาน ทุ่งนา และเรือกสวน แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีมหาชัย ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเศษ เป็นระยะทางรวม 31 กม.นับเป็นเส้นทางการเดินรถไฟสายที่สั้นที่สุดในประเทศ
รถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยเปิดเดินรถมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 และในวันที่ 18 มีนาคม 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ โดยรถไฟสายนี้มายังสถานีมหาชัย แล้วประทับเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนไปยังท่าฉลอมเพื่อทรงประกอบพิธีเปิด ถ. ถวาย
นักท่องเที่ยวที่ยังติดใจบรรยากาศการเดินทางด้วยรถไฟ สามารถข้ามฟากไปยังท่าฉลอม แล้วต่อรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองไปเที่ยว จ. สมุทรสงครามได้ รถไฟขบวนนี้เป็นรถไฟสายสั้นเช่นกัน วิ่งผ่านสวนมะพร้าว ดงจาก ป่าโกงกาง และผ่านตลาดร่มหุบ ก่อนเข้าสถานีปลายทางที่แม่กลอง อย่างไรก็ดีควรตรวจสอบตารางเดินรถก่อนเดินทาง เพราะรถไฟสายนี้วิ่งเพียงวันละสี่เที่ยวเท่านั้น

Please rate this place
Total votes: 218

สถานที่ใกล้เคียง