พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ร. ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนที่พระที่นั่งอมรินทรภิเษกมหาปราสาท โดยมีพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นประธานของพระที่นั่งหมู่นี้
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เป็นปราสาทจัตุรมุข สูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาใช้สำหรับทรงออกพระราชพิธี เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาไว้ที่พระมหาปราสาทองค์นี้ จึงกลายเป็นธรรมเนียมในการใช้เป็นที่ตั้งพระบรมศพพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระมเหสี รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบต่อมา
พระที่นั่งองค์นี้เป็นแม่แบบของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในพระบรมมหาราชวัง องค์ประกอบตกแต่งล้วนสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ตามความหมายในคติพุทธและพราหมณ์ เห็นได้จากเครื่องยอดที่เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิไว้บนหลังคา
เรือนยอดมณฑปเจ็ดชั้น แต่ละชั้นหมายถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ องค์ระฆังตอนกลางแทนสถูปจำลองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนตอนบนคล้ายยอดพระเจดีย์ ต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลี ลูกแก้ว และหยาดน้ำค้าง หมายถึงการหลุดพ้นตามคติพุทธศาสนา
ไขรายอดปราสาททำรูปครุฑยุดนาครองรับ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ และถือเป็นผู้อภิบาลพระมหากษัตริย์
หน้าบันจำหลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ อันแสดงถึงการเป็นสมมุติเทพ
พระที่นั่งบุษบกมาลา ประดิษฐานอยู่กลางมุขเด็จด้านเหนือ เป็นที่สำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ในช่วงสมโภชกรุงฯ ครบรอบ ๒๐๐ ปี ได้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช
พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ตั้งอยู่ภายใต้เครื่องยอดกลางพระที่นั่ง สร้างลักษณะเป็นชั้น ๆ แทนเขาพระสุเมรุ เหนือพระที่นั่งกางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงแผ่พระบารมีไปทั้งแปดทิศ รวมถึงทิศธรณีอีกหนึ่งทิศ
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
สร้างขึ้นในสมัย ร. 4เพื่อใช้เป็นพลับพลาสำหรับประทับพระราชยานรับส่งเสด็จในกระบวนพยุหยาตรา หรือในพระราชพิธีโสกันต์ องค์พระที่นั่งสร้างเป็นปราสาทโถงทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น ยอดทรงมณฑป หน้าบันจำหลักรูปพระอินทร์ประทับยืนบนพระแท่น มีรูปเทพนมขนาบข้าง ล้อมรอบด้วยลายกระหนกเปลว ด้วยความงดงามของทรวดทรงและการตกแต่ง จึงเคยจำลองแบบไปจัดแสดง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปี พ.ศ. 2503