พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร

ชมหมู่พระที่นั่งแบบไทยประเพณี

     เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ตลอดจนใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร มีพระที่นั่งสำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกันและมีพื้นสูงลดหลั่นกันไป เพื่อแสดงฐานะทางสังคม ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีระดับพื้นสูงสุด เพราะเป็นวิมานที่บรรทม พระที่นั่งไพศาลทักษิณสูงรองลงมา ด้วยเป็นที่ประทับและเฝ้าแหนของฝ่ายใน และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานมีระดับพื้นต่ำสุด ด้วยเป็นท้องพระโรงสำหรับออกมหาสมาคมในการพระราพิธีต่าง ๆ เสด็จออกขุนนางและทูตานุทูต ซึ่งถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่า

     นอกจากนี้ยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรเช่นเดียวกับกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ ด้วยมีคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาเสวยพระชาติบำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์ ที่ประทับนั้นจึงเปรียบได้กับธรรมสภา จึงทำกำแพงแก้วเพื่อแสดงถึงฐานะ

     ในสมัย ร. 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระทวารเข้าออก ด้านทิศตะวันออก คือพระทวารเทวาภิบาล เป็นประตูซุ้มยอดทรงมงกุฎสามยอด ประดับกระเบื้องถ้วย ด้านหน้ามีทวารบาลตุ๊กตาศิลาจีนขนาดใหญ่สองตัวตั้งอยู่ ด้านทิศตะวันตก เป็นประตูยอดเดียว คือ พระทวารเทเวศรรักษา นอกจากนี้ภาย ในกำแพงแก้วก็ยังมีพระที่นั่งอื่น ๆ อีกด้วย

              

สิ่งน่าสนใจ

    พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

     ภายในมีพระที่นั่งซึ่งสร้างตั้งแต่ครั้ง ร. 1 สององค์ องค์ด้านหน้าคือ พระแท่นราชบัลลังก์ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีฐานเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันลงไป ชั้นบนเป็นฐานเทวดา ชั้นล่างเป็นฐานครุฑ องค์หลังคือพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ยกพื้นสูงฐานแอ่น โค้งคล้ายเรือเรียกว่า ท้ายเกริน ฐานแต่ละชั้นเปรียบดังเขาพระสุเมรุ เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จ ออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรงแห่งนี้ จะประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งนำมาตั้งบนพระแท่นราชบัลลังก์อีกทีหนึ่ง

 

     พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

     ใช้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายในประดิษฐานพระที่นั่งสำคัญ 2 องค์ที่ใช้ในการพระราชพิธีดังกล่าว

     พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ประดิษฐานอยู่ด้านตะวันออก ใช้ประทับในการรับการถวายน้ำอภิเษก ซึ่งหมายถึงการได้รับพระราชอำนาจเป็นองค์สมมุติเทพโดยสมบูรณ์

     พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดิษฐานอยู่ด้านตะวันตก เป็นที่รับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติ แสดงความยิ่งใหญ่ในฐานะที่ทรงเป็นเทพเจ้า

     จิตรกรรมฝาผนังเขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งแต่มาฆมาณพสั่งสมบุญบารมีจนได้ไปจุติเป็นพระอินทร์ ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ ด้านข้างพระทวารและพระบัญชรเขียนเป็นรูปเทพในศาสนาฮินดู สื่อถึงการเชิญเทพเจ้าทั้งหลายมาร่วมเป็นสักขีพยาน และช่วยคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

     พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

     เป็นพระที่นั่งประธาน ใช้เป็นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทางด้านข้างของพระที่นั่งจะมีที่ประทับของฝ่ายในเดิมเรียกว่า พระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้าย ต่อมา ร. 6 ทรงขนานพระนามว่า พระที่นั่งเทพสถานพิลาศและพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล ตามลำดับ

     พระที่นั่งนี้มีหลังคาซ้อนชั้นอันแสดงถึงพระเกียรติยศ ยิ่งซ้อนชั้นมากยิ่งแสดงถึงศักดิ์ที่สูง และมักมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือหุ้มด้วยดีบุก หน้าบันจำหลักลายรูปพระอินทร์ประทับอยู่เหนือบุษบก ในลักษณะเทวดาประจำทิศเพื่อปกป้องพระมหามณเฑียร ตามคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์

Please rate this place
Total votes: 346