ย่านบ้านหัวถนน
ถ. พานิชเจริญเป็นถนนที่ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ขนานกับแม่น้ำเพชรทางฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับวัดเกาะ ที่เรียกว่าบ้านหัวถนน สมัยก่อนบรรยากาศคึกคักมาก เพราะเป็นแหล่งรับซื้อน้ำตาลและข้าวสารแหล่งใหญ่ จึงมีผู้มาสร้างอาคารทั้งตึกแถวและเรือนแถวไม้เปิดเป็นร้านค้าขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ต่อมาก็มีช่างทองมาตั้งรกราก ปัจจุบันแม้จะซบเซาลง แต่ก็ยังมีอาคารเก่าที่น่าสนใจอยู่หลายหลัง
สิ่งน่าสนใจ
ชมอาคารเก่า หากเดินจากวัดเกาะไปราว 200 ม. จนเกือบถึงตรอกท่าช่อง จะพบว่าบริเวณย่านหัวถนนนี้มีร่องรอยอันรุ่งเรืองของอดีตอยู่เป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นถนนทางด้านซ้ายจะเห็นตึกแถวสูงซึ่งเป็นตึกหลังแรกๆ ของเมืองเพชร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นบ้านของตระกูลศุขะพานิช พ่อค้าข้าวและน้ำตาลรายใหญ่เมื่อราว 50 ปีก่อน ตรงข้ามกันเป็นบ้านทองสัมฤทธิ์ เดินไปอีกสักหน่อยด้านขวามือเป็นป้ายร้านทองเก่าแก่ของพ่อโช สุวรรณช่าง นอกจากนี้ยังมีเรือนแถวไม้สองชั้นเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ด้วย แต่แทบไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว
ร้านทองป้าเนื่อง หากเดินไปเกือบถึงสะพานท่าสงฆ์ ลองสังเกตบ้านเลขที่ 368 ด้วยเป็นบ้านของป้าเนื่อง แฝงสีคำ ซึ่งเป็นช่างทองเมืองเพชรที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ (ช่างทอง) ในปี พ.ศ. 2531
ป้าเนื่องเกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2457 เดิมครอบครัวมีอาชีพค้าขาย เมื่อป้าเนื่องอายุ 17 ปี ญาติมาชักชวนให้ไปหัดทำทองเพื่อจะได้ทำงานอยู่กับบ้าน เมื่อฝึกทำสร้อยคอด้วยเงินจนชำนาญแล้ว จึงฝึกทำเครื่องประดับอื่นด้วยทองคำ หลังจากนั้นป้าเนื่องก็ยึดอาชีพทำทองเรื่อยมา ผู้สนใจเครื่องทอง แวะที่บ้านป้าเนื่องได้
ช่างทองเมืองเพชร
สกุลช่างทองดั้งเดิมในเพชรบุรีมีสองสกุลใหญ่ๆ ที่รู้จักกันดีคือ ตระกูลสุวรรณช่าง และตระกูลทองสัมฤทธิ์ มีเรื่องเล่าว่า สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่เขาวังนั้น พระองค์ทรงนำช่างสาขาต่างๆ โดยเฉพาะช่างสิบหมู่มาอาศัยที่เพชรบุรีจำนวนมากเพื่อออกแบบตกแต่งพระราชวัง ช่างทองก็เป็นหนึ่งในช่างสิบหมู่ จึงเป็นไปได้ว่าช่างทองหลวงเหล่านี้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปะการทำทองให้ช่างเมืองเพชรบุรีที่เข้ามาเป็นลูกมือ ช่างเมืองเพชรมีฝีมือในงานเขียนงานแกะสลักอยู่แล้ว ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงอนุญาตให้ประชาชนถือครองทองคำได้ ช่างทองรุ่นแรกสุดของเมืองเพชรเท่าที่สืบย้อนไปได้จึงปรากฏตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
เครื่องทองเมืองเพชร
เพชรบุรีเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีศิลปะในการทำทองอันเลื่องชื่อ ทองคำในรูปแบบเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ตุ้มหู ได้รับการประดิษฐ์ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมและฝีมืออันประณีต นับแต่การออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น สร้อยขัดมัน (ทำเป็นห่วงกลมเกี่ยวต่อเนื่องเป็นลูกโซ่) ลายปะวะหล่ำ (เลียนแบบโคมจีน) ลายลูกสน (คล้ายลูกสนทะเล เป็นลายที่ใช้ความละเอียดอย่างยิ่ง) ตุ้มหูเต่าร้าง (เลียนแบบผลเต่าร้าง) ฯลฯ รวมทั้งขั้นตอนการจัดเตรียมทองและการประกอบ อย่างการตีทอง ชักลวด แกะสลักลาย ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจและฝีมือที่ได้รับการยกย่องว่าวิจิตรและมีคุณค่าทางศิลปะสูง
ทองคำที่ช่างทองเมืองเพชรนิยมใช้คือทองเนื้อสิบหรือทองคำบริสุทธิ์ที่สั่งซื้อในรูปทองคำแท่งจากห้างทองที่เยาวราช เพราะทองคำบริสุทธิ์นั้นอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น จึงตกแต่งดัดแปลงเป็นลวดลายละเอียดประณีตได้ตามต้องการ
ปัจจุบันช่างทองเก่าแก่ดั้งเดิมเลิกทำทองเกือบหมดแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อายุมากเต็มที อย่างป้าเนื่อง แฝงสีคำ ระยะหลังจึงเกิดช่างทองชาวจีนที่พยายามเลียนแบบผลงานของช่างทองโบราณ ทั้งเพิ่มลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตนด้วย ร้านที่กล่าวกันว่ามีช่างทำทองลายโบราณฝีมือดีอยู่ในขณะนี้คือ ร้านเจ๊จู ที่ ถ. พานิชเจริญ และร้านช่างสถิตย์ นาใจดี (ช่างอ้วน) ในห้างบิ๊กซี เพชรบุรี