จิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริ
จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปกรรมของไทยที่มีมาแต่โบราณ มักวาดเป็นภาพพุทธประวัติหรือทศชาติบนผนังในโบสถ์หรือวิหารตามวัดวาอารามต่างๆ
ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่บนฝาผนังตอนบน และภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2504 อยู่บนฝาผนังตอนล่าง ต่อมาในปี 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรถอดลอกจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างออก ย้ายไปผนังด้านหลังพระประธาน และวาดจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างให้มีลักษณะศิลปกรรมที่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมที่เขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 บนฝาผนังตอนบน
พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เขียนภาพที่ผนังช่วงล่างระหว่างช่องหน้าต่างจำนวนแปดช่อง เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรัชกาลนับจากรัชกาลที่ 4 มาถึงรัชกาลที่ 9 ด้วยลักษณะภาพเหมือนจริงที่มีรายละเอียดถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในแต่ละสมัย ทั้งลักษณะอาคาร สิ่งของ การแต่งกาย ผู้คน โดยลงสี แลเงา และตัดเส้น มีระยะใกล้ไกล หากมองเฉพาะส่วนจะดูเป็นสามมิติแบบภาพเขียนเหมือนจริงสมัยใหม่ แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดบนผนังจะเป็นภาพสองมิติดังเช่นจิตรกรรมไทยที่นิยมเขียนกันมาแต่โบราณ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำรินี้จึงเป็นภาพลักษณะพิเศษที่ผสมผสานระหว่างภาพเขียนสมัยโบราณกับแบบสมัยใหม่ จนนับได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ศิลปกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แห่งสมัยรัชกาลที่ 9
กรมศิลปากรดำเนินงานในช่วงปี 2546-2547 มีจิตรกรร่วมกันเขียนทั้งหมด 22 คน แต่ละคนรับผิดชอบเขียนแต่ละส่วน เช่น คนหนึ่งเขียนภาพคนทั่วไปก็เขียนคนในทุกภาพทุกช่อง อีกคนเขียนภาพอาคารก็เขียนภาพอาคารในทุกช่อง ในที่สุดสำเร็จรวมกันเป็นภาพที่เหมือนเขียนด้วยจิตรกรคนเดียว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางดำเนินงานและพระบรมราชวินิจฉัยในขั้นตอนต่างๆ เป็นลำดับจนงานแล้วเสร็จ ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพอย่างสูงด้านจิตรกรรม และพระราชประสงค์ที่จะรักษาแบบแผนการเขียนจิตรกรรมแบบดั้งเดิมและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ อันนับเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง