พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ศึกษาเรื่องราวของเมืองราชบุรี ชมอาคารแบบตะวันตก

     ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

     พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เพียงให้ความสำคัญในเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับเมืองราชบุรีเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย  ถ้าเป็นไปได้นักท่องเที่ยวควรวางแผนเดินทางมาเที่ยวชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อน เพราะจะสามารถรู้จักและเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองราชบุรีได้ในเวลาอันสั้น

     ประวัติ  อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465  ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลและเป็นศาลากลางหลังแรกของราชบุรี  ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2520 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 มีการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

     อาคารพิพิธภัณฑ์  เป็นอาคารชั้นเดียวครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาปั้นหยา พื้นเป็นไม้สัก  ตัวอาคารล้อมพื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นลานโล่งทั้งสี่ด้าน  ด้านหน้าอาคารมีหน้าบันขนาบด้วยเสาที่มียอดทรงกลมทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบบาโรก (baroque)  จัดเป็นอาคารเก่าที่สวยงามน่าชมแห่งหนึ่ง

     นิทรรศการ  ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวทั้งเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น

     ห้องธรณีสัณฐานบริเวณเมืองราชบุรี  จัดแสดงแผนภูมิเรื่องดิน หิน แร่ และภูเขา ที่มีอยู่ในราชบุรี สะท้อนให้เห็นเหตุปัจจัยของการตั้งถิ่นฐานในบริเวณเมืองราชบุรี

     ห้องก่อนประวัติศาสตร์  หลักฐานที่นำมาแสดงในห้องนี้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ได้มาจาก อ. สวนผึ้ง บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี

     ห้องแสดงวิถีชีวิตชาวราชบุรี  มีเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหาปลา เครื่องมือการเกษตรของชาวบ้าน จัดแสดงอยู่

     นอกจากนี้ยังมีห้องแสดงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชบุรี เช่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวจีน เป็นต้น และมีนิทรรศการเกี่ยวกับคนเด่นคนดังในอดีตผู้เคยสร้างชื่อเสียงให้เมืองราชบุรี เช่น รวม พรหมบุตร ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง”  ละออ ทองมีสิทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขาหนังใหญ่  นับเป็นการสร้างความรู้สึกท้องถิ่นนิยมให้คนราชบุรีได้เป็นอย่างดี

Please rate this place
Total votes: 240