วัดมหาธาตุ

เที่ยวชมพระปรางค์และศิลปะขอม

     นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมวัดมหาธาตุ ด้วยมีพระปรางค์สูงใหญ่งดงามซึ่งได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ควรค่าแก่การชม

     ประวัติ  หลังจากเมืองคูบัวซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีมาแต่สมัยทวารวดีหมดความสำคัญ เนื่องจากลำน้ำแม่กลองที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญเปลี่ยนทิศทางเดิน ชุมชนที่เมืองคูบัวจึงเคลื่อนมาตั้งชุมชนใหม่ที่บริเวณวัดมหาธาตุ โดยมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมือง วัดนี้จึงเป็นสิ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองช่วงหลัง พ.ศ. 1700

     กำแพงแลง  หากเดินเข้าสู่วัด กำแพงแลงจะอยู่ทางขวามือ  ปัจจุบันเหลือกำแพงแลงเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยบางส่วนก็บูรณะขึ้นใหม่  นอกจากจะสร้างด้วยศิลาแลงแล้ว บนกำแพงยังประดับด้วยหินทรายแดงที่จำหลักเป็นพระพุทธรูปภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อันเป็นรูปแบบศิลปะแบบบายนเมืองพระนครแห่งกัมพูชา สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

     วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธาน นอกระเบียงคด  เหลือเพียงฐานของวิหาร ไม่มีผนัง  บนฐานประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัยขนาดใหญ่สององค์ประทับหันหลังชนกัน ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น องค์ที่หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกคือพระมงคลบุรี องค์ที่หันไปทางทิศตะวันตกคือพระสัมฤทธิ์

      ปรางค์  ไม่ปรากฏในเอกสารเกี่ยวกับการสร้าง  องค์ปรางค์สูงจากฐานถึงยอดนภศูลประมาณ 17 วา ก่อด้วยอิฐสอดิน  ด้านทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกมาและมีบันไดทอดยาว สามารถเดินเข้าสู่ห้องคูหาในองค์ปรางค์ได้  ภายในองค์ปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานาคปรกสมัยลพบุรีและพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัย  นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนรูปอดีตพระพุทธเจ้าและเทพชุมนุมแต่อยู่ในสภาพลบเลือน

     รอบปรางค์องค์ใหญ่ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีปรางค์บริวารสามองค์ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม  นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากขอม แม้ราชบุรีไม่ใช่ดินแดนที่ขอมเคยครอบครองมาก่อน

     ถัดจากปรางค์บริวารเป็นระเบียงคดล้อมรอบ มีพระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปศิลาสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา ประดิษฐานอยู่ นับเป็นโบราณวัตถุที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของวัดมหาธาตุที่สืบเนื่องมาหลายยุคสมัย

Please rate this place
Total votes: 228

สถานที่ใกล้เคียง