อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม

ชมหุ่นผู้มีคุณความดี และเรียนรู้ความเป็นไทย

      ค่าเข้าชม  คนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็กเข้าชมฟรี  ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

      อุทยานหุ่นขี้ผึ้งแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 บนพื้นที่ 40 กว่าไร่  มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถานที่พักใจสำหรับบุคคลทั่วไป พร้อมนำเสนอแง่มุมด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยู่อันงดงามในสังคมพุทธ เพื่อให้สิ่งดีงามเหล่านี้ยังคงมีสืบต่อไปในสังคม

สิ่งน่าสนใจ

      อาคารเชิดชูเกียรติ  เป็นอาคารที่จัดแสดงหุ่นบุคคลสำคัญ (คนทั่วไปมักเรียกว่าหุ่นขี้ผึ้ง แต่ที่จริงทำจากไฟเบอร์กลาส  การใช้ขี้ผึ้งเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการทำหุ่นเท่านั้น) เช่น ครูมนตรี ตราโมท นักดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ  สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ  ม.ล. ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา  รวมทั้งมีหุ่นชาวต่างชาติด้วย เช่น แม่ชีเทเรซ่า ชาวอัลบาเนียผู้ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้  ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม เป็นต้น

     การสร้างหุ่นของแต่ละบุคคล รวมถึงการจัดแสดง ทางอุทยานฯ พยายามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลต้นแบบให้มากที่สุด ทั้งสีผิว ริ้วรอยต่างๆ ท่าทาง เสื้อผ้า ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในขณะที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้เพื่อจำลองที่อยู่หรือที่ทำงานของบุคคลนั้นด้วย

     ลานพระ 3 สมัย  เป็นลานกลางแจ้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองและรมดำ ให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาความแตกต่างของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อยุธยา และเชียงแสน

     ถ้ำชาดก  เป็นถ้ำจำลอง  ภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ  การจัดแสดงจะหมุนเวียน เช่นบางช่วงอาจแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก แสดงถึงคติธรรมให้มนุษย์รู้จักความพอดีในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

     กุฏิพระสงฆ์ 4 ภาค  เป็นกุฏิพระสงฆ์แบบบ้านทรงไทยสี่ภาค ซึ่งประยุกต์การก่อสร้างให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละภูมิภาค  บนกุฏิมีหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ชื่อดังซึ่งทำพิธีเบิกเนตรแล้ว ดังเช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เหรียญ ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่ทวด หลวงปู่ทิม ฯลฯ

     บ้านไทย 4 ภาค  จำลองบ้านไทยสี่ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน สะท้อนถึงสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน ดังเช่นบ้านภาคเหนือจะมิดชิด หน้าต่างแคบ ฝาเรือนลาดเอียงโดยตอนบนเอียงออกด้านนอกเพื่อป้องกันลมหนาว  บ้านภาคใต้มีเสาเรือนซึ่งมีตีนเสา หรือใช้ตอม่อเป็นฐานแทนที่จะฝังเสาลงดิน เพื่อป้องกันความชื้น  บ้านภาคอีสานยกพื้นค่อนข้างสูง ทำให้มีพื้นที่ใต้ถุนมาก เป็นพื้นที่สำหรับทำงานหัตถกรรมในครัวเรือนเช่นทอผ้า  ส่วนบ้านภาคกลางมีหลังคาทรงสูงเพื่อถ่ายเทให้ความร้อนลงสู่ตัวเรือนได้ช้า ส่วนในฤดูฝนก็ให้น้ำฝนไหลลงจากหลังคาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำใต้ถุนสูงเพื่อกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากอีกด้วย

     ลานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  พระโพธิสัตว์องค์นี้สูง 3.5 ม. อยู่ในอิริยาบถประทับท่ามหาราชลีลา คือนั่งขัดสมาธิโดยชันเข่าขึ้นมาข้างหนึ่ง ประดิษฐานท่ามกลางสวนหย่อมสวยงาม  รูปแบบขององค์พระโพธิสัตว์จำลองจากงานประติมากรรมศิลปะราชวงศ์ซ้อง ประเทศจีน  เชื่อกันว่าทรงเป็นอริยบุคคลที่บรรลุอรหันต์ผู้มีปณิธานแน่วแน่ว่าจะอยู่คอยช่วยสรรพสัตว์ในโลกจนถึงคนสุดท้าย

     ในบริเวณอุทยานฯ นอกจากมีต้นไม้ร่มรื่นแล้ว ในอาคารจัดแสดงหุ่นยังมีหุ่น “ลุงผล” หมายถึงผลผลิตที่อุทยานฯ สร้างขึ้น ให้ผู้เข้าชมได้ถ่ายภาพด้วย

 

Please rate this place
Total votes: 267

สถานที่ใกล้เคียง