ทฤษฎีใหม่
ในปี 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาชีวิตและอาชีพของเกษตรกร รวมถึงสร้างความร่วมมือกันเป็นเครือข่ายจากชุมชนถึงระดับประเทศ ทฤษฎีนี้มีสามขั้นคือ
ขั้นที่ 1 การผลิต บริหารจัดการให้เกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อยราว 15 ไร่พึ่งตนเองได้บนพื้นฐานของการประหยัด มีผลผลิตเป็นอาหารเพียงพอ ถ้าเหลือจึงขาย โดยแบ่งกิจกรรมในพื้นที่เป็นสี่ส่วนในอัตรา 30:30:30:10 คือ ขุดสระเก็บน้ำร้อยละ 30 ของพื้นที่ เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ปลูกข้าวร้อยละ 30 ของพื้นที่ เพื่อปลูกข้าวนาปีสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกหกคนพอกินได้ตลอดปี ปลูกพืชสวนร้อยละ 30 ของพื้นที่ โดยปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่อย่างผสมผสาน ตามฤดูกาลและสภาพพื้นที่ ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ร้อยละ 10 ของพื้นที่
ขั้นที่ 2 การรวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เมื่อเกษตรกรพออยู่พอกินแล้วให้รวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ดำเนินการด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน
ขั้นที่ 3 การร่วมมือกับแหล่งทุนและแหล่งพลังงาน สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคธุรกิจ ภาคราชการ และอื่นๆ เช่นกลุ่มเกษตรกรติตต่อร่วมมือกับแหล่งทุน อย่างธนาคาร บริษัทเอกชน บริษัทน้ำมัน ในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 เป็นการสร้างความพอเพียงในระดับครอบครัว ขั้นที่ 2 สร้างความพอเพียงในระดับชุมชน ขั้นที่ 3 สร้างความพอเพียงในระดับประเทศ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวทางของความพอเพียง พออยู่พอกิน ความร่วมมือร่วมใจ ทำให้ประเทศเป็นสังคมเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และแบ่งปันช่วยเหลือกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองการเกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้นในพื้นที่ทดลองใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา ต. ห้วยบง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. สระบุรี จากการที่ทรงมีแรงดลใจที่จะจัดหาแหล่งน้ำในไร่นา นำมาสู่การจัดสรรแบ่งที่ดินเป็นที่ขุดสระน้ำ ที่ปลูกข้าว และบ้านพักอาศัย