FarmerDo ชาวนาวันหยุด
แม้จะไม่มีที่ดิน ไม่มีบรรพบุรุษเป็นชาวนา และไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยความรักก็ทำให้คนคนหนึ่งเป็นชาวนาอินทรีย์ที่ดีได้
หลังจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาว-ศุภิสรา อารยะพงษ์ ทำงานบริษัทเอกชนอยู่พักหนึ่ง แต่ก็รู้สึกว่างานยังไม่ตอบโจทย์คุณค่าในชีวิต ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศสวีเดน
ระหว่างนั้นเธอมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งของธนาคารโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับการปลูกข้าวในเอเชียเมื่อ 40 ปีก่อน และพูดถึงเทคนิคการปลูกข้าวรูปแบบใหม่ที่จะนำพาไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ แต่ผลงานวิจัยชิ้นนั้นไทยกลับเป็นประเทศเดียวที่ “ล้มเหลว” ในการทดลอง
ความสงสัยทำให้วาวส่งอีเมลไปสอบถามอาจารย์เจ้าของงานวิจัย และพบว่าปัญหาหลักคือการสื่อสารระหว่างคณะทำงานชาวต่างชาติกับชาวนาไทย ทำให้ไม่ได้ผลผลิตที่ต้องการ และมีปัจจัยรอบด้านอีกหลายๆ อย่าง วาวจึงบอกอาจารย์ว่าเธอจะพิสูจน์ว่ามันทำได้ ด้วยการกลับไปทำนา
เมื่อกลับมาวาวยังคงทำงานประจำ แต่เลือกเข้าร่วมเครือข่าย “ชาวนาวันหยุด” เพื่อออกไปเรียนรู้การทำนาในวันสุดสัปดาห์เพิ่มเติมความรู้
วันหนึ่งได้คุยกับลุงคนหนึ่งที่ฉะเชิงเทรา เมื่อลุงทราบความตั้งใจของเธอก็ยกที่นา 1 ไร่ให้ไปลองทำดู เพราะลุงอายุมากแล้วทำไม่ไหว ครั้นเธอบอกกับครอบครัวว่าจะทำนาอินทรีย์ ก็ไม่มีใครสนับสนุน เธอจึงต้องไปกู้เงินมาทำ
แม้เป็นที่นาแค่ไร่เดียว แต่ด้วยความที่ทำอะไรไม่เป็น ต้องใช้การจ้าง บางครั้งนัดไว้แต่เขาไม่มา ก็ต้องดำนาเองคนเดียว แถมครั้งแรกกะเวลาไม่ถูก นาจึงถูกน้ำท่วมก่อนจะเก็บเกี่ยว นาปีแรกของเธอขาดทุน
ด้วยความมุ่งมั่นบวกกับความรักและใส่ใจ วาวเริ่มทำใหม่ตั้งแต่คัดเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงเพาะปลูก แก้ปัญหาแรงงานด้วยการจัดกิจกรรมให้คนเมืองได้เข้ามาเรียนรู้การทำนาอินทรีย์ มาช่วยกันลงแรง ในที่สุดนาปีต่อมาก็ได้ผลผลิตที่ดี
วาวยังชวนชาวบ้านรอบๆ มาช่วยเก็บเกี่ยว ทำให้พวกเขาได้เห็นว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ น้ำหนักเยอะ กอใหญ่ จึงสนใจมาทำเกษตรอินทรีย์บ้าง
แค่รู้เรื่องการปลูกข้าวอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำการตลาดเพื่อหาที่ขายด้วย เธอจึงทำแบรนด์ “FarmerDo ชาวนาวันหยุด” ขึ้นมา รวบรวมผลผลิตของเครือข่ายออกจำหน่าย เพื่อสร้างทางเลือกให้ชาวนาสามารถยืนได้ด้วยตนเอง และเพื่อให้คนกินข้าวได้บริโภคข้าวดีๆ อร่อยๆ คุณประโยชน์เต็มๆ ทั้งได้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่กำลังจะสูญพันธุ์ด้วย
FarmerDo มีผลิตภัณฑ์เด่นๆ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมมะลิพื้นเมืองเชียงรายที่ใกล้สูญพันธุ์ ข้าวสินเหล็ก ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวสังข์หยด และผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกหลายอย่าง เช่น ช็อกโกแลต น้ำพริกปลาย่าง ฯลฯ
สามารถสั่งซื้อได้โดยตรง หรือตามตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ เช่น ตลาด Greenery Market ตลาด Bangkok Farmer Market และร้านขายสินค้าอินทรีย์หลายแห่ง
หลังจากปลูกข้าวประสบผลสำเร็จ วาวเก็บข้อมูล สรุปผลการศึกษา แล้วส่งไปให้คณะทำงานที่ศึกษาเรื่องการปลูกข้าวเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ศาสตราจารย์เจ้าของงานวิจัยเดินทางมายังไทยเพื่อดูผลงานที่พิสูจน์ว่าเธอทำได้แล้วจริงๆ และเธอยังขยายเครือข่ายข้าวไปยัง ต. ศรีเมืองชุม อ. แม่สาย จ. เชียงราย อีกด้วย