วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

     หากลองจินตนาการภาพของวัดโพธิ์ยามอาทิตย์อัสดง พระอุโบสถตั้งตระหง่านอยู่กลางหมู่เจดีย์และระเบียงคดซึ่งซ้อนเป็นชั้นๆ สะท้อนแสงสีทองยามเย็นดูระยิบระยับราวกับเมืองสวรรค์ ชวนให้นึกถึงมัชฌิมประเทศ แคว้นหนึ่งอันถูกเอ่ยถึงในคัมภีร์ไตรภูมิวินิจฉยากถา พุทธคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑  เนื้อความนั้นอธิบายถึงลักษณะของโลกพุทธคติว่าประกอบด้วยเจ็ดส่วนหรือเจ็ดประเทศ มีสัณฐานเป็นวงกลม มัชฌิมประเทศตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยอีกหกประเทศ เชื่อกันว่ามีเพียงพระพุทธเจ้า พระอัครสาวก คฤหบดี และพราหมณ์ผู้มีบุญบารมีมากเท่านั้น ที่จะมาอุบัติขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้
     วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมชื่อวัดโพธาราม สร้างในสมัยอยุธยา  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในสมัยรัชกาลที่ ๔  ช่วงแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ความมั่นคงทางการเมืองยังมีไม่มากนัก ราชธานีใหม่อย่างกรุงเทพฯ จำต้องสร้างความชอบธรรมและอ้างความเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรด้วยการประกาศตัวเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในฐานะมัชฌิมประเทศ
     แม้มัชฌิมประเทศจะเป็นเพียงดินแดนในพุทธคติ แต่เราก็สามารถสัมผัสกลิ่นอายได้ตั้งแต่แรกก้าวผ่านประตูวัดด้าน ถ. มหาราช  ความอลังการของศิลปะการประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีต่างๆ และความอ่อนช้อยของสถาปัตยกรรมไทย สะกดสายตาของพวกเราให้ต้องมองระเรื่อยถ้วนทุกจุด จากพระมณฑป พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล แล้วไปหยุด ณ พระอุโบสถซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลาง  ถ้าเปรียบอาณาเขตวัดเป็นขอบเขตของมัชฌิมประเทศ อุโบสถนี้ก็เปรียบดังบัลลังก์พระมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ศูนย์กลางของมัชฌิมประเทศ ดังนั้นโบสถ์นี้จึงมีความสูงมากกว่าส่วนอื่นๆ ของวัด
     เมื่อเข้ามาในโบสถ์ ก้มกราบขอพรจากพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในอิริยาบถประทับนั่งภายใต้พระเศวตฉัตร  พระเศวตฉัตรคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิราชของกษัตริย์นับสืบมาแต่สมัยอยุธยา  ครั้งนั้นรัชกาลที่ ๑ มีพระราชประสงค์เชื่อมโยงการสื่อความนี้เช่นกัน
     หมู่เจดีย์และระเบียงคดที่รายล้อมโบสถ์เปรียบได้กับเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบบัลลังก์พระมหาโพธิ์ มีเมืองราชคฤห์ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเวสาลี เมืองอัลกัปปะ เป็นอาทิ
     จากพระอุโบสถ เราเดินชมพระวิหารสี่หลังกันต่อ เป็นวิหารซึ่งตั้งประจำทิศล้อมรอบโบสถ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระพุทธไสยาสน์ สัญลักษณ์แทนเหตุการณ์ในพุทธประวัติอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในมัชฌิมประเทศ
     พวกเราเดินต่อมายังระเบียงคดด้านนอกทางทิศตะวันตก ผ่านหมู่พระมหาเจดีย์สี่องค์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่งดงาม  องค์กลางคือพระมหาเจดีย์สรรเพชญดาญาณ เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ ภายในบรรจุพระอัฐิของพระองค์ ส่วนพระมหาเจดีย์อีกสามองค์บรรจุพระอัฐิของรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔  การบรรจุพระอัฐิของทั้งสี่พระองค์ในพระเจดีย์ก็ด้วยความมุ่งหมายว่า พระองค์จะได้เสด็จไปประทับ ณ มัชฌิมประเทศอันเป็นดินแดนที่ผู้บำเพ็ญบารมีเท่านั้นจะไปอุบัติได้
     เมื่อได้พบความงามของประณีตศิลป์ซึ่งนับเป็นงานชิ้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ภายในวัดแล้ว พวกเรายังได้เห็นสิ่งที่งดงามยิ่งด้วย นั่นคือแบบแผนการสร้างวัดที่วางอยู่บนแนวคิดทางศาสนาซึ่งย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงหลักธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วถือปฏิบัติ อันเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขเสมือนก้าวเดินอยู่บนทางแห่งมัชฌิมประเทศ
Please rate this place
Total votes: 23

สถานที่ใกล้เคียง