นวดแผนโพธิ
วิถีนวดแผนโพธิ์ จุฬาลักษณ์ พรหมมานอก
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดโพธิ์” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งเปรียบเป็นมหาวิทยาลัยเปิดสรรพวิชาแห่งแรกของไทยที่รวมเอาภูมิปัญญาไทย จิตรกรรม และสถาปัตยกรรมไทย เพื่อไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น
นอกจากจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่อยู่รายรอบวัดแล้ว วัดโพธิ์ยังมาความโดดเด่นในด้านภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยซึ่งได้รับความเชื่อถือและการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย การนวดของวัดโพธิ์ถือเป็นการแพทย์ทางเลือก ความพิเศษของการนวดของที่นี่คือ การนวดตามแนวเส้นประธานทั้ง 10 และตามธาตุลม ซึ่งหมอนวดทุกคนจะต้องเรียนการนวดทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ภาคปฏิบัติเป็นการลงมือนวด การออกแรงในส่วนต่างๆ ส่วนภาคทฤษฎีคือการเรียนรู้เกี่ยวกับธาตุลมและแนวเส้นต่างๆ ของร่างกาย โดยการนวดของวัดโพธิ์เป็นการนวดเพื่อความผ่อนคลายและรักษาโรคกล้ามเนื้อต่างๆ
“พี่กบ-จุฬาลักษณ์ พรหมมานอก” หมอนวดวัดโพธิ์วัย 37 ปี ที่ลาออกจากการเป็นพยาบาลเพื่อมาเป็นหมอนวดถึง 15 ปี เล่าให้เราฟังว่า
“ตอนนั้นพี่มีโอกาสได้ช่วยกายภาพผู้ป่วยด้วยการนวดแล้วเขามีอาการดีขึ้น พี่จึงตัดสินใจเรียนนวดอย่างจริงจัง เพราะพี่รู้สึกได้ว่าพี่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น”
ภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทยฉบับวัดโพธิ์มีชื่อเสียงโด่งดังมาเนิ่นนาน เป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก เพราะพี่กบเล่าว่าในปีหนึ่งๆ มีชาวต่างชาติมาเรียนนวดสูตรวัดโพธิ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งราคาค่าเรียนแต่ละหลักสูตรก็ไม่ธรรมดา มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนก็มี นอกจากนี้การนวดวัดโพธิ์ยังถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนบางสาขาของมหาวิทยาลัยชื่อดังอีกหลายๆ ที่อีกด้วย
นอกจากการนวดแล้ววัดโพธิ์ยังโด่งดังในเรื่องของ “ฤๅษีดัดตน” ถึงแม้จะเป็นคนละแบบแผนกัน แต่ท่าฤๅษีดัดตนก็ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปร่างท่าทางที่ดูเหมือนคนปกติจะทำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เทียบท่าเหล่านี้แล้วจะมีความคล้ายกับการเล่นโยคะในสมัยปัจจุบัน ฤๅษีดัดตนถูกจารึกไว้ในตำรามากถึง 80 ท่า ซึ่งแต่ละท่าจะใช้สำหรับแก้อาการผิดปกติในร่างกายที่แตกต่างกันไปแต่ละจุด ทั้งปวดเมื่อย ขับลม แก้ไข้ แก้อาการต่างๆ รวมไปถึงแก้เครียดด้วย
พี่กบยังกล่าวเสริมกับเราอีกว่า
“ไม่อยากให้ดูถูกอาชีพหมอนวดเพียงเพราะมีความเชื่อที่ผิดๆ เพราะหมอนวดไม่เพียงจะต้องรักในการนวด แต่ยังต้องรักในการที่ได้ดูแลรักษาผู้อื่นอีกด้วย หมอนวดทุกคนไม่ใช่ว่าอยากเป็นแล้วตื่นมาจะได้เป็นกันง่ายๆ เพราะต้องผ่านการเรียนการฝึกฝนมาก่อน
“หมอนวดทุกคนต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ไม่งั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งคนที่มาเรียนนวดไม่จำเป็นจะต้องเรียนเพื่อมาเป็นหมอนวดเสมอไป ยังมีคนที่สนใจมาเรียนเพื่อไปนวดให้คนในครอบครัวเพื่อเป็นการเสริมความรู้ของตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันในหมู่ญาติมิตร”
คำพูดที่เหมือนเป็นการตัดพ้อ แต่ภายในแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความภูมิใจในวิชาชีพทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังที่ส่งผ่านออกมาอย่างอ่อนโยนและอบอุ่น ตลอดการพูดคุยกับพี่กบทำให้เรารู้สึกว่าพี่กบรักอาชีพหมอนวดเพราะชอบช่วยเหลือผู้อื่นและภูมิใจในอาชีพหมอนวดมาก
เรื่องขึ้นชื่ออีกเรื่องหนึ่งของวัดโพธิ์ก็คือเรื่องยาสมุนไพรในวัดโพธิ์ บริเวณรอบๆ วัดโพธิ์จะมีการปลูกพืชสมุนไพรไว้เป็นส่วนๆ พร้อมทั้งมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของสมุนไพรนั้นๆ และที่มุมหนึ่งของศาลาเล็กๆ แห่งหนึ่งในวัดโพธิ์มีการจารึกตำรายาสมุนไพรไว้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และที่สำคัญสมุนไพรเหล่านี้ยังสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบการนวดได้อีกด้วย
“ถ้าฝากไปถึงทุกคนได้ พี่ก็อยากจะฝากให้ทุกคนเปิดใจกับอาชีพนี้ มองเข้ามาให้รู้สึกแล้วเข้าใจในอาชีพหมอนวด อย่าเชื่อในความเชื่อที่ผิดๆ ถึงแม้อาชีพหมอนวดจะไม่ใช่อาชีพที่คนส่วนมากใฝ่ฝันที่จะทำเหมือนกับอาชีพอื่นๆ แต่อาชีพหมอนวดสอนให้พี่ได้เข้าใจความรู้สึกรักในการช่วยเหลือผู้อื่นให้หายจากอาการเจ็บปวด
“ทุกครั้งที่ลูกค้าได้ลุกออกจากเตียงนวดพร้อมกับท่าทางที่สดชื่นขึ้น เชื่อไหมว่าพี่มีความสุขมาก ถึงพี่จะต้องนวดให้ลูกค้าเป็นร้อยคนต่อวันก็ตาม พี่ก็ยินดีที่จะทำหน้าที่สืบสานภูมิปัญญาการนวดแผนไทยให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน”