ชุมชนถนนถวาย

เดินชุมชนย้อนรอยสุขาภิบาลแห่งแรกของไทย

     อีกฟากฝั่งของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นชุมชนถนนถวาย ชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงมีบ้านเรือนอันสะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของชุมชนจีนในอดีต เช่น มีศาลเจ้าหลายแห่ง มีบ้านไม้โบราณ มีถนนแคบซึ่งไม่มีฟุตพาทเพราะในสมัยโบราณเป็นทางสัญจรของชาวบ้านก่อนถูกปรับเป็นถนน รวมทั้งมีท่าจอดเรือประมง ซึ่งการทำประมงเป็นอาชีพหลักของชาวชุมชนนี้มาแต่อดีต ชุมชนถนนถวายจึงนับเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่น่าเดินเที่ยวชม

     ถ. ถวาย ถนนแคบๆ ที่ตัดผ่านชุมชนนี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นต้นกำเนิดสุขาภิบาลแห่งแรก อันเป็นปฐมบทของการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย

 

สิ่งน่าสนใจ

     เดินชมถนนสายประวัติศาสตร์  ถ. ถวายเป็นถนนสายแคบเชื่อมระหว่างวัดช่องลมกับวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ระยะทางประมาณ 2 กม.  ตลอดสองฝั่งถนนมีอาคารบ้านเรือนไม้แบบโบราณแทรกตามอาคารปูนเป็นระยะ และในระหว่างทางยังมีจุดจอดเรือประมงหลายแห่ง เป็นสิ่งสะท้อนว่า ในอดีตบริเวณนี้เป็นชุมชนชาวประมงและชุมชนขนาดใหญ่ของชาวจีนที่อพยพมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากที่ภายในชุมชนมีศาลเจ้าและโรงเจเก่าแก่อายุร่วม 100 ปีถึงสี่แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่นักเดินเรือและชาวประมงเคารพนับถือกันมาก เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่ทับทิมเป็นเจ้าแม่แห่งท้องทะเล  ศาลเจ้าพ่อกวนอู ที่คนค้าขายนับถือมาก ด้วยเชื่อว่าการบูชากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ จะได้พบกับบริวารที่ดี  โรงเจเชงเฮียงตั๊ว สถานที่ถือศีลกินเจของชาวท่าฉลอมในช่วงเทศกาลกินเจ  และศาลเจ้าปุนเถ้ากง ปุนเถ้ากงเป็นเทพเจ้าที่เปรียบเสมือนเจ้าที่เจ้าทาง

     พื้นที่ริมถนนบางช่วงเป็นลานตากอาหารทะเลของชาวบ้าน ช่วงที่ติดกับท่าเรือข้ามฟากท่าฉลอมจะมีตลาดขายอาหารทะเลสดๆ ที่ติดตลาดตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ถึงบ่าย ถัดจากตลาดสดไปทางวัดช่องลมเป็นแหล่งขายของทะเลแห้งที่มีให้เลือกนับสิบร้าน

     เดิมพื้นถนนของ ถ. ถวายเป็นอิฐมอญลายก้างปลา ทว่าในปัจจุบันมีการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตลาดยาง แต่ยังคงเหลือรูปแบบอิฐมอญลายก้างปลาให้ชม โดยเป็นการจำลองขึ้นมาใหม่ ณ บริเวณทางเข้าที่พักของเอกชนด้านตรงข้ามกับบ้านศิลาสุวรรณ

     บ้านศิลาสุวรรณ  สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีหน้าจั่วแบบมะนิลา ส่วนสิ่งตกแต่งหลังคา ไม่ว่าจะเป็นปั้นลม เชิงชาย ช่องลม หรือระเบียง ล้วนฉลุลวดลายอย่างงามวิจิตรตามแบบยุโรป อันเป็นที่นิยมแพร่หลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เจ้าของบ้านผู้สร้างเป็นเจ้าของกิจการเรือประมงที่มั่งคั่งในขณะนั้น จึงนำแบบมาจากบ้านไม้แถว ถ. ตก ในกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2465 นับเป็นรูปแบบบ้านที่ทันสมัยมากในท่าฉลอมเวลานั้น

     นอกจากนี้ภายในบ้านศิลาสุวรรณยังเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุด้วย ดังเช่น พระพุทธรูป เครื่องลายคราม เครื่องมุก เครื่องใช้โบราณอย่างเครื่องอบผ้า เครื่องอัดกลีบผ้า หีบผ้าโบราณ เป็นต้น  ปัจจุบันบ้านหลังนี้เจ้าของบ้านยังคงอาศัยอยู่ ไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่หากต้องการเข้าชม ต้องติดต่อ วีณา ศิลาสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ล่วงหน้า

     - มีงานวันท้องถิ่นไทย ประมาณวันที่ 18 มีนาคม

     - มีเทศกาลกินเจท่าฉลอมในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน

Please rate this place
Total votes: 227

สถานที่ใกล้เคียง