ฝนหลวง

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเรื่องฝนหลวงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2498 หรือกว่า 50 ปีก่อน  ครั้งนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปทางภาคอีสาน ทรงแหงนดูท้องฟ้าพบเมฆจำนวนมาก แต่พัดผ่านไปไม่ตกลงมาเป็นฝน จึงมีพระราชดำริเรื่องวิธีแก้ไขความแห้งแล้งในท้องถิ่นทุรกันดารว่าจะต้องหาวิธีทำให้เมฆตกลงมาเป็นฝน
     ระยะเริ่มต้นฝนหลวงรู้จักในชื่อว่าฝนเทียม  มี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้รับสนองพระราชดำริมาศึกษาค้นคว้าทดลอง โดยจัดตั้งเป็น “โครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม” ขึ้น เนื่องจากเป็นวิชาการใหม่ แม้ในต่างประเทศก็ยังมีข้อมูลน้อย
     การทดลองทำฝนเทียมมีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  หลังจากนั้นก็ได้ทดลองทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบทั้งอุปสรรคและความล้มเหลว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นติดตามผลการทดลองและพระราชทานข้อแนะนำอย่างใกล้ชิดมาตลอด จนสามารถทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่เป้าหมายในเวลาที่ต้องการได้
     วันที่ 19 ตุลาคม 2515 พระองค์ทรงสาธิตการทำฝนหลวงลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ประสบความสำเร็จอย่างแม่นยำในเวลาที่กำหนด โดยมีผู้แทนจากประเทศสิงคโปร์เฝ้าชม  ภายหลังในปี 2543 คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”
     การทำฝนเทียมระยะแรกนั้นเป็นการทำฝนจากเมฆอุ่น (warm cloud เมฆที่ก่อตัวจนมียอดเมฆสูงประมาณ 10,000-15,000 ฟุต) เนื่องจากเครื่องบินที่ใช้ไม่มีระบบปรับความดันอากาศ จึงไม่สามารถบินขึ้นไปถึงระดับของเมฆเย็น (cold cloud เมฆที่ก่อตัวจนมียอดเมฆสูงเกิน 15,000 ฟุต) ได้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้วิจัยประดิษฐ์เครื่องยิงสารเคมีจากเครื่องบินเข้าไปในเมฆเย็น  วิธีนี้มีการทดลองอยู่ระยะหนึ่งจนก้าวหน้าไปพอสมควร จนกระทั่งในปี 2531 เกิดโครงการวิจัยทรัพยากรแบบประยุกต์ อันเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จึงได้เครื่องบินปรับความดันอากาศรุ่น Super King Air  ซึ่งบินสูงถึงระดับ 20,000 ฟุต มายิงสารเคมีช่วยทำฝนในระดับของเมฆเย็น
     กรรมวิธีการทำฝนหลวงมีสามขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ก่อกวน เครื่องบินโปรยสารเคมีดูดซับความชื้นในอากาศเพื่อให้เกิดการรวมตัวเป็นเมฆ  ขั้นที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน เครื่องบินบินเข้าไปในก้อนเมฆโปรยสารเคมีให้เกิดความร้อน เพื่อให้เมฆขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว  และขั้นที่ 3 โจมตี เป็นการบังคับให้เมฆตกลงเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้เครื่องบินสองลำบินต่างระดับกันโปรยสารเคมีในเมฆอุ่น เรียกว่าการโจมตีแบบ Sandwich หรือใช้เครื่องบินลำเดียวโจมตีที่ระดับของเมฆเย็น
     ในปี 2542 เกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเทคนิคการทำฝนหลวงแบบ Super Sandwich ซึ่งใช้เครื่องบินสามลำร่วมกันโปรยสารเคมีโจมตีทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนเทียมให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าวิธีปกติ ซึ่งวิธีการนี้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของไทยนับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
     เทคนิคทำฝนหลวงแบบ Super Sandwich ของพระองค์ นับเป็นนวัตกรรมใหม่สุดที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกเคยคิดได้มาก่อน และได้จดสิทธิบัตรแล้วในทวีปยุโรป และกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา
     ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลโครงการฝนหลวงคือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
     ปี 2549 เกิดเหตุเครื่องบินทำฝนหลวงตกที่ จ. จันทบุรี นักบินและช่างเสียชีวิตสี่คน เนื่องจากสภาพเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการมาอย่างหนัก การปฏิบัติงานฝนหลวงจึงเป็นการทำงานท่ามกลางความเสี่ยง ทั้งจากการต้องบินเข้าหาก้อนเมฆที่มักมีสภาพอากาศแปรปรวน และความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝนหลวงยังคงมุ่งมั่นกับการนำเครื่องทะยานสู่ท้องฟ้าเพื่อนำน้ำลงมาให้ประชาชน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานพระราชดำริอันมีคุณูปการใหญ่หลวงนี้
Please rate this place
Total votes: 365

สถานที่ใกล้เคียง