พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รื้อฟื้นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ตั้งแต่ปี 2503 หลังจากงดเว้นไปตั้งแต่ปี 2479 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (นับแต่ปี 2483 รัฐบาลกำหนดให้มีเพียงงานพระราชพิธีพืชมงคล)
พระราชพิธีนี้เป็นพระราชประเพณีสำคัญที่มีความเก่าแก่สืบทอดมาช้านาน พระองค์มีพระราชดำริว่าเป็นพระราชพิธีที่กระทำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารและเพื่อบำรุงขวัญเพิ่มพูนกำลังใจแก่เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และถือเป็นการประกาศว่าถึงฤดูทำนาแล้ว โดยวันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีทางพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 2 เป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ ณ ท้องสนามหลวง มีพระยาแรกนาทำพิธีไถหว่าน และพราหมณ์ให้พระโคกินอาหารเสี่ยงทาย
พระองค์ยังทรงปรับวันงานพระราชประเพณีนี้ให้เหมาะแก่กาลสมัยด้วยการทรงยกย่องให้เป็น “วันเกษตรกร” และโปรดเกล้าฯ ให้ทุกจังหวัดจัดงานวันเกษตรกร มีการประกวดพืชผลและพันธุ์สัตว์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้แทนชาวนาทุกภาคเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลการประกวดพันธุ์ข้าว ทั้งยังพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกจากสวนจิตรลดาให้เป็นเมล็ดข้าวมิ่งขวัญแก่ชาวนาทั้งประเทศ
พระราชพิธีนี้จัดให้มีขึ้นในเดือน 6 เป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีมาตลอด กระทั่งระยะหลังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธี