วัดทุ่งหญ้าคมบาง
วัดตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง สร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นวัดของชาวไทยวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชบุรีตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีศาลาการเปรียญขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี เดิมเป็นอาคารชั้นเดียวที่ปิดทึบทั้งสี่ด้านด้วยฝาประกน ซึ่งช่างชาวจีนไหหลำจาก จ. สมุทรสงครามเป็นผู้สร้าง ต่อมามีการปรับปรุงเป็นอาคารสองชั้น บนชั้น 2 มีภาพจิตรกรรมที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่หลายภาพ น่าแวะไปชม
ภาพจิตรกรรมในศาลาการเปรียญ อยู่บนชั้น 2 มีหลายจุดน่าชมดังนี้
ภาพบนเพดาน เป็นการผสมผสานลักษณะของศิลปะหลายชาติ ได้แก่ ไทย จีน และฝรั่ง ดังเช่นลายกระหนกที่มีลูกไม้ตูมๆ อย่างฝรั่งประกอบขึ้นเป็นลายเครือเถา และลายค้างคาวซึ่งช่างจีนนำเข้ามาเผยแพร่ ลายค้างคาวคือการเขียนรูปค้างคาว หนึ่งในสัตว์มงคลของจีน ไว้ที่มุมทั้งสี่ของกรอบสี่เหลี่ยม ในตำแหน่งเดียวกันนี้แม้จะเขียนเป็นรูปอื่นในภายหลัง อย่างที่ศาลาการเปรียญหลังนี้ ก็ยังคงเรียกว่าลายค้างคาว สีที่ใช้เป็นสีเข้ม เช่นสีดำ น้ำเงิน คราม และสีทอง อันเป็นความนิยมของช่างจีนยุคนั้น
ภาพหัวล้านชนกันที่ปรากฏบนเพดาน สันนิษฐานว่าเป็นการละเล่นที่นิยมในอดีต เพราะพบภาพเขียนแบบนี้ตามวัดต่างๆ ในราชบุรีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีภาพยักษ์ หนุมาน ทศกัณฐ์ นางมณโฑ และที่น่าสนใจคือภาพลิงต่อตัวกันเป็นรูปช้างสามเศียร ช่างเขียนภาพคงได้รับอิทธิพลมาจากกรุงเทพฯ กล่าวคือ พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 7 เคยเขียนภาพลักษณะนี้ไว้ที่ระเบียงโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ภาพบนไม้คอสอง (ไม้คอสองคือไม้ปิดระหว่างช่วงเสา) เป็นภาพพุทธประวัติ โดยช่วงเริ่มต้นพุทธประวัติเป็นฝีมือของช่างชื่น มีพื้นเพอยู่ที่ อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ส่วนช่วงท้ายเป็นฝีมือของช่างกลม คนแถบคลองประดู่ อ. ปากท่อ จ. ราชบุรี นับเป็นงานที่ประณีตเหนือกว่าฝีมือช่างท้องถิ่นที่ฝากผลงานไว้ที่วัดอื่นในราชบุรี